ฟื้นความหลัง
พิมพ์ครั้งแรก 2510
ศาสตราจารย์พิเศษ พระยาอนุมานราชธน
(พ.ศ. 2431-2512)
 
ฟื้นความหลัง เป็นหนังสืออัตชีวประวัติของนักประพันธ์สามัญชน ผู้รอบรู้ด้านภาษา
ศิลปวรรณคดี มานุษยวิทยา และวัฒนธรรม ผลงานเขียนของท่าน มีส่วนกระตุ้นความสนใจ
อีกทั้งได้รับการอ้างอิง ในงานศึกษาวิจัยของผู้ศึกษาค้นคว้าในสาขาวิชา ที่ท่านพระยาอนุมานราชธน หรือเสฐียรโกเศศเคยแสดงผลงานไว้เสมอ แม้ฟื้นความหลังจะเป็นหนังสือชีวประวัติ กระนั้น สาระส่วนใหญ่ กลับเป็นการบันทึกความรู้ในประสบการณ์ชีวิตที่เด่นกว่า ขณะประวัติชีวิตดูประหนึ่งฉากประกอบ ดังนั้น จะจำแนกประเภทหนังสือนี้ ว่าเป็นประวัติศาสตร์สังคมอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้
ความเจริญของมนุษยชาตินั้น มีปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ ความสามารถพัฒนาตน จากการโอนผลความรู้ในอดีตด้วยส่วนหนึ่ง ไม่ต้องเสียเวลาแสวงหาประสบการณ์ตรง หากรู้จักประสบการณ์ทางอ้อมของผู้อื่น เก็บรับบทเรียน และนำมาสู่การเลือกใช้ ปรับปรนให้เหมาะแก่ตน ยุคสมัยของตนโดยเหมาะสม เพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป คนแต่ละคนมีเรื่องราวในชีวิตของคนเป็นบทเรียน อย่างน้อยก็เหมาะสำหรับอบรมบุตรหลานในตระกูล เพียงแต่ความสามารถจะถ่ายทอดสู่สาธารณะ และความน่าสนใจอาจจะมีไม่เสมอกัน สำหรับบุคคลสำคัญ เช่น พระอนุมานราชธน ประสบการณ์ย่อมน่าสนใจมากขึ้นเป็นทวีคูณ ผนวกความสามารถทางการเขียนเผยแพร่ที่ชวนอ่าน จึงเป็นผลงานที่ทรงคุณค่า คติไทยดั้งเดิมไม่นิยมเล่าเรื่องตนเอง เพราะเกรงว่าเป็นการโอ้อวด ทำให้การจดบันทึกถ่ายทอดประสบการณ์ หรือผลงานเขียนประเภทความทรงจำของไทยมีไม่มากนัก นับเป็นการสูญโอกาสที่ดีไปอย่างหนึ่ง งานเขียนฟื้นความหลังเช่นกัน แม้จะเขียนบันทึกอัตชีวประวัติแล้ว สิ่งที่ลึกเร้นน่าสังเกตไว้ คือ ท่านผู้เขียนยังน่าจะไม่พ้นข่ายเกรงคำครหา
จึงกลายเป็นสารคดีประกอบชีวประวัติ กระนั้นก็ทรงคุณค่าอย่างสูง เพราะท่านมีความรู้มาก ช่างจำ ช่างเล่า
หนังสือฟื้นความหลังทั้งชุด เป็นหนังสือที่คนไทยควรอ่าน มิใช่เพียงเพื่อรู้ว่า ประวัติชีวิตส่วนหนึ่งของพระยาอนุมานราชธน มีความเป็นมาอย่างไรเท่านั้น แต่จากการรู้เรื่องผ่านงานเขียนนี้ เรายังได้โดยสารไปสู่ความรู้จักเข้าใจสังคมไทย ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีไทยมากขึ้น เป็นหนังสือประวัติสังคมที่บันทึกผ่านการเขียนอัตชีวประวัติ
 
! back ! ! home !